โฆษณา
ผลการประชุม ก.ค.ศ. วันที่ 25 เมษายน 2566 มีมติปรับ เกณฑ์สอบครูผู้ช่วย ใหม่ ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 5/2566
ผลการประชุม ก.ค.ศ. มีมติปรับ เกณฑ์สอบครูผู้ช่วย ใหม่ ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 5/2566
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 5/2566 มีมติปรับ เกณฑ์สอบครูผู้ช่วย ใหม่ โดยมีนายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
เห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 14/2563)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอปรับปรุงรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 14/2563) เนื่องจากได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลการสอบแข่งขันฯ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ทั้งภาค ก ภาค ข และภาค ค แล้ว พบปัญหาในการดำเนินการหลายประเด็น รวมถึงเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ. 2565 ที่ได้กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา ทำหน้าที่ด้านการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ จึงได้ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าวซึ่ง ก.ค.ศ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณแต่ยังคงหลักการในการสอบแข่งขันเพื่อให้ได้ครูที่เป็นคนเก่ง คนดีมีศักยภาพและทักษะในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษา สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างคล่องตัว สอดคล้องกับสภาพบริบทและกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป จึงให้ปรับรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
1. ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. สศศ. เป็นผู้บริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบ ภาค ก และ ภาค ข โดย อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาอาจรวมกลุ่มกันตามที่ สพฐ.กำหนด สำหรับการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบ โดยให้สถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพทางการศึกษาและมีประสบการณ์ในการออกข้อสอบตามที่เห็นสมควรเป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบตามหลักสูตรที่กำหนดท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 14/2563 รวมทั้งจัดส่งข้อสอบ ตรวจกระดาษคำตอบ และประมวลผลการสอบ
โฆษณา
2. ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา การประเมินด้านความสามารถการสอน ให้ประเมินจากการนำเสนอของผู้สมัครสอบแข่งขันที่แสดงถึงทักษะและศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอนในประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทางหรือสาขาวิชาเอกที่สมัคร ในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ตามที่ผู้ดำเนินการสอบแข่งขันกำหนด โดยกำหนดระยะเวลาประเมินไม่เกิน ๒๐ นาที ต่อผู้สมัครหนึ่งราย
3. ยกเลิกเกณฑ์การประเมินและวิธีการให้คะแนน ภาค ค แบบรูบริค (Scoring Rubric)
4. ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมิน ภาค ค จำนวน 3 – 5 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน ครู 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 1 คน
5. มอบสำนักงาน ก.ค.ศ. ปรับแก้ไขรายละเอียดส่วนอื่นของหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ให้สอดคล้องกัน
ขอบคุณเนื้อหาจาก ก.ค.ศ.
เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม ก.ค.ศ.ปรับ เกณฑ์ประเมิน PA ใหม่ ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 5/2566 วันอังคารที่ 25 เมษายน 2566
โฆษณา