โฆษณา
จรรยาบรรณวิชาชีพครู สรุปเนื้อหาจรรยาบรรณวิชาชีพครู 5 หมวด 9 ข้อ จรรยาบรรณครู ที่ ครูต้องอ่าน
สรุปเนื้อหา จรรยาบรรณวิชาชีพครู 5 หมวด 9 ข้อ จรรยาบรรณครู ที่ ครูต้องอ่าน
ครูดีดอทคอม ขอนำเสนอ สิ่งที่ คุณครูและว่าที่คุณครู ทุกท่านควรต้องรู้ นั้นคือจรรยาบรรณวิชาชีพครู 5 หมวด 9 ข้อ หวังว่าเนื้อหานี้จะมีประโยชน์ต่อทุกท่าน ที่เข้ามาอ่านะค่ะ ทุกท่านสามารถดาวน์โหลด สรุปเนื้อหาจรรยาบรรณวิชาชีพครู 5 หมวด 9 ข้อ ในรูปแบบไฟล์ PDF ตามลิงก์ด้านล้างนี้ค่ะ
ดาวน์โหลดสรุปเนื้อหาจรรยาบรรณวิชาชีพครู 5 หมวด 9 ข้อ จรรยาบรรณครู ที่ ครูต้องอ่าน คลิกที่นี่
“วิชาชีพ” หมายความว่า วิชาชีพทางการศึกษาที่ทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการรับผิดชอบการบริหารสถานศึกษาในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน และการบริหารการศึกษานอกสถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนการสนับสนุนการศึกษาให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ
“ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา” หมายความว่า ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546
“ครู” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน
“ผู้บริหารสถาศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ปริหารสถานศึกษาภายในเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาอื่นที่จัดการศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน
“ผู้บริหารการศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา
“บุคลากรทางการศึกษาอื่น” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษา ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ซึ่งหน่วยงานการศึกษากำหนดตำแหน่งให้ต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษา
“จรรยาบรรณของวิชาชีพ” หรือ จรรยาบรรณวิชาชีพครู หมายความว่า มาตรฐานการปฏิบัติตนที่กำหนดขึ้นเป็นแบบแผนในการประพฤติตน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียง และฐานะขอผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ผู้รับบริการและสังคม อันจะนำมาซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ
โดยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ถือว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ หรือ จรรยาบรรณวิชาชีพครู และแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งมีทั้งหมด 5 หมวด 9 ข้อ ดังนี้
โฆษณา
หมวด 1 จรรยาบรรณต่อตนเอง
ข้อ 1 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ
หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
ข้อ 2 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ
หมวด 3 จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
ข้อ 3 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้กำลังใจแก่ศิษย์ และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอหน้า
ข้อ 4 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามแก่ศิษย์ และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ข้อ 5 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ และผู้รับบริการ
ข้อ 7 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องให้บริการด้วยความจริงใจและเสมอภาค โดยไม่เรียกรับ หรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
หมวด 4 จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
ข้อ 8 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
หมวด 5 จรรยาบรรณต่อสังคม
ข้อ 9 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก คุรุสภา
เรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม จรรยาบรรณวิชาชีพครู5 ด้าน 9 ข้อ ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556
ตรวจสอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 2566 ท่านสามารถ เช็คเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และติดตาม ประกาศเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปี 2566 ได้ที่นี่
โฆษณา